เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ที่ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) นายโชคชัย นาควิจิตร นายกสมาคมแพทย์แผนไทยอันดามันภูเก็ต ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต, นายภาสกร คีรีรัตน์ ประธานสมาพันธ์แพทย์แผนไทยภาคใต้, นายสมสุข สัมพันธ์ประทีป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และนางขนิษฐา ทองสม กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการแพทย์แผนไทยภาคใต้ ซึ่งทางสมาพันธ์แพทย์แผนไทยภาคใต้ ร่วมกับ ม.อ.ภูเก็ต กำหนดจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่28-29 มกราคม 2566 ที่ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี วิทยาเขตภูเก็ต ม.อ.ภูเก็ต
นายภาสกร คีรีรัตน์ ประธานสมาพันธ์แพทย์แผนไทยภาคใต้ กล่าวว่า สมาพันธ์แพทย์แผนไทยภาคใต้ มีทั้งหมด 7 สมาคมกับ 8 ชมรม ซึ่งเป็นสมาคมและชมรมแพทย์แผนไทย 14 จังหวัดภาคใต้ รวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ละสมาคม และชมรมมีสมาชิกที่เป็นแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และนักศึกษาแพทย์แผนไทย สมาชิกแต่ละท่านต่างมีองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยในการดูแลรักษาสุขอนามัยให้ประชาชนพื้นที่ การรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์เพื่อมีพื้นที่ในการแบ่งปัน ความรู้ ภูมิปัญญา กฎหมาย นโยบายภาครัฐ และประสบการณ์ด้านแพทย์แผนไทย ให้กับสมาชิก
รวมไปถึงการต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดการประชุมสัมมนาแพทย์แผนไทยภาคใต้จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนหลักการดังกล่าว จัดให้มีทุกๆ 4 เดือน โดยแต่ละจังหวัดผลัดกันเป็นเจ้าภาพซึ่งในปีนี้ สมาคมแพทย์แผนไทยอันดามันภูเก็ต เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยใช้ชื่องานว่า “ประชุมวิชาการแพทย์แผนไทยภาคใต้” โดยสมาพันธ์แพทย์แผนไทยภาคใต้
นายโชคชัย นาควิจิตร นายกสมาคมแพทย์แผนไทยอันดามันภูเก็ต กล่าวว่า จากการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 2 ใน 10 ข้อ คือเรื่องของ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Heb) ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าแพทย์แผนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ซึ่งนอกจากการเสวนาเชิงวิชาการ และการแบ่งปันความรู้ด้านแพทย์แผนไทยบนเวทีแล้ว
ยังมีการออกบูธสาธิตวิธีการดูแลสุขภาพแบบแพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้านอีกด้วย เช่น นวดแก้อาการ คอ บ่า ไหล่ นวดหน้าอกแก้กรดไหลย้อน กัวซาหน้า นวดตอกเส้น สับเส้น พอกตาด้วยสมุนไพร เขี่ยตาต้อหนามคัดเค้า สักยา นวดก้อนเส้า นั่งถ่าน หัตถการเหยียบฉ่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจชีพจรเช็คสุขภาพ และการตรวจเช็คธาตุเจ้าเรือนอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายในการยกระดับแพทย์แผนไทยสู่แพทย์แผนโลก เพราะภูมิปัญญา และองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถดูแลสุขภาพของคนไทยได้จริง และเป็นเรื่องที่ความสนับสนุนเป็นอย่างอย่างยิ่ง ทางมหาวิทยาลัยเองมีความพร้อมในการสนับสนุนและผลักดัน แพทย์แผนไทยเพื่อให้บริการกับประชาชนในจังหวัดภูเก็ต และช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันต่อไปในอนาคต
นายสมสุข สัมพันธ์ประทีป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สาธารณสุขจังหวัดให้ความสำคัญกับสุขภาพและพลานามัยที่สมบรูณ์ของประชาชน หากการจัดงานทำได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์หลักการของทางสาธารณสุขซึ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ทางสาธารณสุขก็ยินดีที่จะสนับสนุนจัดงานที่เป็นการเผยแพร่ สืบต่อ องค์ความรู้ของบรรพบุรุษแพทย์แผนไทยออกไปในวงกว้าง และพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้
นางขนิษฐา ทองสม กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางเหล่งกาชาดจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมมือกับสมาคมแพทย์แผนไทยอันดามันภูเก็ตมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา สมุนไพรรักษาไข้พิษ ไข้กาฬ ที่ได้รับตำรับมาจากวัดคีรีวงศ์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้ช่วยประชาชนชาวภูเก็ตปลอดภัยจากโควิดหลายครัวเรือน จึงมีความเชื่อมั่นในสมุนไพรและศาสตร์แห่งแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้าน และมีความยินดีที่จะสนับสนุนกิจการของแพทย์แผนไทยให้เป็นที่รู้จักออกไปในวงกว้าง และเชื่อว่าศาสตร์แห่งแพทย์แผนไทยจะช่วยพัฒนาในการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตเติบโตต่อไป