เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ห้องประชุมศูนย์ประสานงานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (มอ.ภูเก็ต) อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนางนาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังปัญหาด้านการท่องเที่ยวจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต และพังงา
เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน หลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ มีนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก ทำให้ประสบกับปัญหาพื้นฐานในด้านสาธารณูปโภค เช่น รถติด, น้ำอุปโภคบริโภคที่ไม่เพียงพอ, การขาดแคลนแรงงาน, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, องค์กรภาคเอกชน, ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกลุ่มอันดามันเข้าร่วม
ทั้งนี้ทางภาคเอกชนของจังหวัดพังงา ได้เสนอแนวคิดในการเชื่อมโยงการทำตลาดของ 2 จังหวัดให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทั้งสองจังหวัดต้องพึ่งพาทรัพยากรซึ่งกันและกัน ขณะที่ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต ได้เสนอในส่วนของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน, น้ำอุปโภคบริโภค เป็นต้น ให้สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งขอให้มีการผลักดันการดำเนินโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาจังหวัดเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองด้วย ปัญหาความเดือดร้อนของโรงแรมขนาดเล็ก การแก้ไขปัญหากฎกระทรวงฯ ใบอนุญาตเปิดโรงแรม และปัญหามาเฟียต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ โดยเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และนักท่องเที่ยวในประเทศตนเอง เป็นต้น
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังการรับฟังปัญหา ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อมารับฟังปัญหาด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนสถานการณ์ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ โดยตนตั้งให้เป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอันดามัน ขณะนี้การท่องเที่ยวของทั้ง 3 จังหวัด พบว่าโรงแรมขนาดใหญ่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักเกือบเต็มไม่ต่างจากปี 2562 แล้ว แต่โรงแรมขนาดเล็กยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของใบอนุญาต โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีการปรับปรุงจากห้องพัก 4 ห้อง เป็น 10 ห้อง และจาก 10 คนขนาดเป็น 30 คน ทราบว่าทางกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการออกระเบียบหลักเกณฑ์ในเรื่องความปลอดภัยของผู้เข้าพัก คาดว่าคงไม่ช้า
“ในภาพรวมของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอันดามัน มีภูเก็ตเป็นแกนกลาง และมีพังงากับกระบี่เป็นปีก ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน หากเป็นเรื่องของความทันสมัยและเทคโนโลยีต่างๆ ต้องยกให้ ภูเก็ต และขณะอยู่ในระหว่างการเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพงานเอ็กซ์โปร์ 2028 ส่วนของจ.พังงา ได้มีการพุดคุยกับผู้ประกอบการ และผู้ว่าฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน ซึ่งเป็นเทรนของโลก เริ่มนำร่องในพื้นที่เกาะคอเขา ก่อนจะขยายผลไปพื้นที่กะปง และพื้นที่เกาะยาวน้อยเกาะยาวใหญ่
ส่วนของ จ.กระบี่พยายามส่งเสริมการเป็นเมืองสปา ใน อ.คลองท่อม ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร และมีจุดเด่น คือ น้ำพุร้อนจืดและน้ำพุเค็ม โดยพัฒนาให้เป็นเมืองสปาระดับโลก หากสามารถพัฒนา 3 จังหวัดนี้ให้เป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจของอันดามันได้ ซึ่งไม่ต้องกังวลเลยกับอนาคตที่สภาพัฒน์ฯ ตั้งเป้าให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทำ GDP ของการท่องเที่ยวให้ได้ 25% ในปี 2570
หมายความว่าจะต้องมีรายได้ 5 ล้านล้านบาท หากทำได้เช่นนี้ในหลาย ๆ ภูมิภาค ต้องบูรณาการความร่วมมือกัน โดยได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80 ล้านคน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ล้านตำแหน่ง โดยในปี 2562 เรามีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการจ้างงาน 4.8 ล้านคน แต่หากให้ได้ตามเป้าหมายที่สภาพัฒน์ กำหนดไว้ จะต้องลงมือพัฒนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้นจะได้มีการเก็บรวบรวมและนำเสนอให้กับผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับทราบ ซึ่งในเรื่องๆ ก็อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว เช่น การแก้ปัญหาจราจรติดขัด โรงแรมเล็ก ปัญหาน้ำประปา ปัญหาแรงงาน ปัญหามาเฟีย เป็นต้น แอยากฝากว่า เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมาแล้วเราต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดภูเก็ต และประเทศไทย