เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ที่พื้นที่สวนสาธารณะหนองน้ำในหาน ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยพลเรือเอกชัยณรงค์ เจริญรักษ์ นายกสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย, นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ และนายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , หัวหน้าส่วนราชการ และนักกีฬาของสมาคมฯ ที่เข้าร่วมการแข่งขันเรือพายชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย รวมจำนวนกว่า 200 คน
ร่วมปลูกป่านำร่องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม สนับสนุนนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กฟผ. (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 นับเป็นครั้งแรกในการดำเนินโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม มีเป้าหมายปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในพื้นที่ 2 ไร่ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ผล ยางนา และทองอุไร จำนวนกว่า 250 ต้น
นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Smart Environment และช่วยยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศจากสภาวะเรือนกระจก สร้างประโยชน์ จากการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ สังคมของคนในชุมชน สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง
ด้านพลเรือเอกชัยณรงค์ เจริญรักษ์ นายกสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สมาคมฯ ได้จัดการแข่งขันเรือพายชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประจำปี 2566 (เก็บคะแนนสนามที่ 2) โดยเปิดโอกาสให้นักกีฬาได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะส่งเสริม และสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้นักกีฬาของสมาคมฯ และหวังว่าหากทุกคนร่วมใจกันปลูกป่า รักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จะทำให้เป้าหมายโครงการปลูกป่าล้านไร่ของ กฟผ. บรรลุผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินนโยบาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปีค.ศ. 2050 มุ่งสู่พลังงานสะอาด และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ รวมถึงการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดในบรรยากาศ และเชิญชวนให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับประเทศ
“กฟผ. ตั้งเป้าปลูกป่าปีละ 1 แสนไร่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน รวม 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี ระหว่างปี 2565 – 2574 สามารถชดเชยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี คาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นกว่า 23 ล้านตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. กล่าวย้ำตอนท้าย