ข่าวสังคม » คนภูเก็ต ร่วมพลังปลูก “ต้นทองอุไร” 1,000 ต้น เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ร.10

คนภูเก็ต ร่วมพลังปลูก “ต้นทองอุไร” 1,000 ต้น เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ร.10

24 กรกฎาคม 2023
385   0

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ที่บริเวณอนุสรณ์สถานเมืองถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “ปลูกต้นทองอุไร รวมใจภักดิ์” เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวจังหวัดภูเก็ต เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2566

โดยนางศึกษาวดี จันทร์ชู นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน และนายชาญ วงศ์สัตยานนท์ รองประธานมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร กล่าวแสดงความขอบคุณ มีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ร่วมปลูกต้นทองอุไร จำนวน 1,000 ต้น

สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพภูเก็ต และมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร มีแนวคิดในการจัดกิจกรรมดังกล่าว นอกจากได้แสดงถึงความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แล้ว ยังทำเพื่อให้ทุกคนในจังหวัดภูเก็ตมีความสำนึกรักในบ้านเกิดที่อยู่อาศัย ให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ และฟื้นฟูบริเวณพื้นที่อันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ให้สวยงามร่มรื่น คงอยู่ตลอดไป

สำหรับ “ต้นทองอุไร” เป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รูปทรงเป็นช่อสีเหลืองทองอร่ามและทนแดด ทนฝนได้ดี ปลูกขึ้นได้ง่ายดอกจะออกทั้งปี เชื่อกันว่าทองอุไรจะเสริมโชคชะตาของผู้ปลูก ให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีเงินทองร่ำรวยมั่งคั่งสมดั่งชื่อทองอุไร และอีกชื่อหนึ่งของทองอุไร ก็คือ “ดอกสร้อยทอง” ก็ถือว่าเป็นมงคลนามด้วยเช่นกัน แล้วก็ยังมีความเชื่อกันว่า ทองอุไร จะเสริมวาสนาบารมี ช่วยให้ผู้ปลูกไม้นี้ ได้มีเกียรติมีลาภยศสูงส่ง

จึงนำต้นทองอุไรมาปลูกในบนพื้นประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ ในอดีตสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทัพของท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร ที่นำบรรพชนผู้กล้าออกมาร่วมกันปกป้องเมืองถลางจากทัพพม่า จนได้รับชัยชนะไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่สมรภูมิสงครามแห่งนี้ ในอดีตคนภูเก็ตเรียกกันว่า “โคกชนะพม่า” บ้างก็เรียกว่า “ทุ่งถลางชนะศึก” แต่ต่อมาจังหวัดได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อนุสรณ์สถานเมืองถลาง”

error: Content is protected !!