เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 4 บริษัทภูเก็ตเพิร์ล อินดัสทรี จำกัด นางสาววรนิษฐ์ อภิรัฐจิรวงษ์ พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายอมร อินทรเจริญ ประธานบริษัท ภูเก็ตเพิร์ล อินดัสทรี จำกัด, นายสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต, ดร.ขวัญณพัทสร ชาญทะเล กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด และตัวแทนประมงจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอัญมณี เครื่องประดับแห่งท้องทะเลใต้ “แพรพรรณ & อัญมณี ภาคใต้” PEARL SOUTHERN JEWELRY FAIR 2023 ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า
นางสาววรนิษฐ์ อภิรัฐจิรวงษ์ พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจหลักในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ ทั้งการพัฒนาและเพิ่มทักษะผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ในทุกระดับ ให้สอดคล้องกับพื้นที่ อัตลักษณ์ วิถีชีวิต แนวคิด ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดมูลค่าทางการค้าและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับภาคใต้มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ผสมผสานกับวัฒนธรรมทั้งด้านการใช้ภาษา อาหารการกิน เครื่องประดับ และการแต่งกาย ที่มีความหลากหลายทางด้าน เชื้อชาติ ผสมผสานกับอัตลักษณ์ภูมิปัญญาที่มีคุณค่าแสดงถึงมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของคนใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน บ่งบอกได้ถึงค่านิยมในการแต่งกายทั้งด้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ
ดังนั้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้ (ยกเว้น จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) กระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอัญมณี เครื่องประดับแห่งท้องทะเลใต้ ภายใต้โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าอัตลักษณ์และเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงกำหนดจะจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอัญมณี เครื่องประดับแห่งท้องทะเลใต้ ชื่องาน “แพรพรรณ & อัญมณี ภาคใต้” ขึ้นดังกล่าว
พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวอีกว่า งานแพรพรรณ & อัญมณี ภาคใต้ 2023 เป็นการเพิ่มช่องทางและสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับภาคใต้ พร้อมกับเป็นการสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการสินค้าเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับภาคใต้
อย่างไรก็ตามภายในงานจะมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ได้แก่ สินค้าเครื่องประดับ สินค้าจิวเวลรี่ ผลิตภัณฑ์ผ้า และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเครื่องประดับ ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จำนวน 11 จังหวัด (ยกเว้น ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เข้าร่วมจำนวน 50 บูธ