ข่าวสังคม » มอ.ภูเก็ต จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรม ในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

มอ.ภูเก็ต จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรม ในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

25 ตุลาคม 2023
562   0

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรม ในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต” ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลดา เพ็ชรวรุณ คณะการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในมิติพหุวัฒนธรรมกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้กล่าวว่า ภารกิจของมหาวิทยาลัยฯ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานไม่ว่าภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันและขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor: AWC) การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน

รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในนามของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ฯ  มีความพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้และจะมีโครงการที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตในอนาคตต่อไป และขอขอบคุณทุกภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้มีส่วนช่วยในการดำเนินโครงการการขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรม ในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลดา เพ็ชรวรุณ คณะการบริการและการท่องเที่ยว ประธานคณะทำงานฯ ได้กล่าวว่า ด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดำเนินโครงการการขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรมในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึงกันยายน 2566

โดยใช้ความรู้ด้านพหุวัฒนธรรมมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าการบริการ มุ่งยกระดับคุณภาพบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของภูเก็ตที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้เกิดความประทับใจ และความพึงพอใจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลป่าตอง สมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต สุโขสปา และ Chivitr Wellness Retreat

ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการ ประกอบด้วย คู่มือการให้บริการสปาในมิติพหุวัฒนธรรม 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเชีย, สื่อวิดีทัศน์ออนไลน์การให้บริการสปาในมิติพหุวัฒนธรรม 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเชีย, ข้อควรปฏิบัติและข้อควรหลีกเลี่ยงในการให้บริการกลุ่มลูกค้าหลากหลายศาสนา, แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้รับบริการในมิติพหุวัฒนธรรม กรณีศึกษาแผนกทันตกรรม โรงพยาบาลรัฐบาล 6 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน  รัสเชีย อาหรับและพม่า และคู่มือการให้บริการในมิติพหุวัฒนธรรม กรณีศึกษาแผนกส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลเอกชน

ในการสัมนาวันนี้จะมีการบรรยาย บทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับ สสส. ในการขับเคลื่อนการจัดการสุขภาวะในจังหวัดภูเก็ต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวข้อปฐมบทการท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย โดยนายแพทย์สงวน คุณาพร ผู้อำนวยการสถาบันศัลยกรรมตกแต่งความงามภูเก็ต และกรรมการบริหารสมาคมศัลยกรรมความงามนานาชาติ

และการเสวนาในหัวข้อ Wellness Wave: A Deep Dive into Phuket Wellness Tourism in the Future. Perspectives of Multi-Cultural Management โดยนางรัตนดา ชูบาล นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต, นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต, นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, พ.ว.ทินรัตน์ ปราบประชา ผู้จัดการ Wellness Center and Laguna Wellness by BDMS Phuket และนางสาวขวัญณพัทสร ชาญทะเล กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

ซึ่งทุกท่านเป็นวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมหาวิทยาลัย ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการดำเนินโครงการและการสัมมนาในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับสถานประกอบการต่าง ๆ รวมทั้งสถานพยาบาลในการยกระดับการบริการให้กับกลุ่มผู้รับบริการและนักท่องเที่ยวนานาชาติของภูเก็ต และมีส่วนช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพของจังหวัดภูเก็ต ต่อไปในอนาคต

error: Content is protected !!