เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการสันนิบาตเทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตนา เวทย์ประสิทธิ์ ที่ปรึกษารองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต, นายก้าน ประชุมพรรณ์ บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน เข้าร่วม ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2566
โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการประสานความร่วมมือให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเป็นความร่วมมือทางด้านการลงทุน (Urban Collaboration and Institution Arrangement) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่เกิดจากกลไกพัฒนาเมืองหรือที่เรียกว่า “ตัวกระตุ้นการให้เกิดการลงทุนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” นั้นก็คือ บริษัทอันดามันพัฒนาเมือง จำกัด และภาคีเครือข่าย เป็นกลไกและฟันเฟืองหลักเพื่อใช้สำหรับขับเคลื่อนการเศรษฐกิจภายในพื้นที่ เป็นหนึ่งฟันเฟืองที่มีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการก่อร่างสร้างการเปลี่ยนผ่านจากเมืองธรรมดาไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดที่เกิดจากการตรึงความรู้ที่ได้จากปฎิบัติการ (Action research) ในพื้นทีจังหวัดภูเก็ต
การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่ เอกชนดำเนินกิจการของรัฐ ทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และสังคม ซึ่งกิจการของรัฐดังกล่าวต้องเป็นกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือกิจการดังกล่าวจะต้องให้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานกำกับดูแลคือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
การประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายพัฒนาเมือง เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในจังหวัดภูเก็ตภายใต้โครงการเคเบิลคาร์ภูเก็ต (Phuket Cable Car) อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ 6,500 ล้านบาท ถือได้ว่า เป็นการบูรณาการการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกันระหว่างบริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต 13 อปท. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมาร่วมกันพัฒนาเมืองด้านโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการพัฒนาระบบขนส่ง ซึ่งมีการพัฒนาระบบขนส่งทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น EV Bus , EV Boat , รวมไปถึงระบบขนส่งเคเบิลคาร์ที่จะเป็นทั้ง Landmark การท่องเที่ยวแห่งใหม่ และระบบขนถ่ายนักท่องเที่ยวจากพระใหญ่สู่ชายหาดกะตะ ช่วยกระจายรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปสู่ผู้ประกอบการและ SME ในท้องถิ่น
ดังนั้น การประชุมสัมมนาทางวิชาการสันนิบาตเทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตถือได้ว่า เป็นการประสานความร่วมมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ โดยใช้กระบวนการด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยบนพื้นฐานเศรษฐกิจเขียว ที่เน้นในเรื่องของการมีส่วนร่วม การใช้ศักยภาพของพื้นที่ และกลไกความร่วมมือต่างๆ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดนครสวรรค์
ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งภาคเหนือตอนล่างเป็นประตูเชื่อมสู่ภาคเหนือและตั้งอยู่บนแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors (NSEC) และแผนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ เช่น รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ, รถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด และส่วนต่อขยายของทางรถไฟสายเหนือ และนครสวรรค์ยังถือเป็นพื้นที่ Logistic Hub และเป็น Hub of Cultural Tourism เมืองท่องเที่ยว เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย-จีน เมืองปากน้ำโพ ต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา มีชุมชนชาวจีนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ และเทศกาลตรุษจีนก็เป็นหนึ่งในเทศกาลใหญ่ของจังหวัด รองจากกรุงเทพฯ และภูเก็ต