เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ห้องประชุมอาคารศูนย์ชมรมผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มอบหมายให้นายธีระพงศ์ ช่วยชู ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการ “โรงพยาบาลสนาม” ขับเคลื่อนการขอใบอนุญาตโรงแรมขนาดเล็กภูเก็ต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการตรวจสอบใบอนุญาตโรงแรมจังหวัดภูเก็ต อาทิ นายสุภาพ ศิริ ผอ.ปปท.เขต 8 , นายอัครพล สุทธิรักษ์ จิตต์สุภาพ นายอำเภอกะทู้, นางลลิตา มณีศรี นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง, สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ภูเก็ต, สมาคมที่พักบูติกภูเก็ต เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กในพื้นที่ป่าตองและจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

สำหรับการจัดทำโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการที่พักขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงการยื่นขอใบอนุญาตโรงแรม ใหัทันก่อนเกณฑ์ผ่อนปรนภายใน 18 สิงหาคม พ.ศ.2568 ซึ่งได้รับการสนับสนุนข้อมูลจัดทำเล่มศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อก่อให้เกิดความสะดวกในการขอใบอนุญาตโรงแรม นำโดยนายนิพนธ์ เอกวานิช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ SMEs วุฒิสภา

โดยจังหวัดภูเก็ตมีความตั้งใจปล่อยแถวผู้ประกอบการโรงแรมที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการยื่นขอใบอนุญาตโรงแรมภายใต้ในกรอบเงื่อนไข และการดำเนินงานในรูปแบบโรงพบาบาลสนามแก้ปัญหาโรงแรม เปิดคลีนิกให้คำปรึกษา “ห้องฉุกเฉิน” One Stop Service” ซึ่งผู้ป่วย คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่พักรายวัน ได้เตรียมความพร้อม นำเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งอาคาร แบบแปลน แผนผัง สถาปนิกวิศวกร เป็นต้น เพื่อยื่นขอใบอนุญาตการเปลี่ยนการใช้อาคารหรือดัดแปลงอาคารกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมยื่นขอใบอนุญาตโรงแรมให้ทันตามเงื่อนไขกรอบเวลาดังกล่าว

นายธีระพงศ์ ช่วยชู ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเปิดโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางและเล็ก เข้าถึงใบอนุญาตให้ได้กว่า 200 โรง ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดรับทราบสภาพปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งออกแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กที่มิใช่โรงแรม ในจังหวัดภูเก็ต

โดยใช้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน เมื่อผู้ประกอบการเข้าระบบถูกต้องก็จะสามารถขอวงเงินกู้กับธนาคารเพื่อปรับปรุงโรงแรมได้ และเป็นผลบวกต่อความมั่งคงของจังหวัด สามารถตรวจสอบข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เข้าพักได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง รวมทั้งยังจัดเก็บภาษีให้กับประเทศได้มากขึ้น

นายชินวัฒน์ อุดมนิยม นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต กล่าวเน้นย้ำว่า เป็นโอกาสสุดท้าย ของผู้ประกอบการโรงแรมในการยื่นขอใบอนุญาตโรงแรมให้ทันก่อนเกณฑ์ผ่อนปรนภายใน 18 สิงหาคม พ.ศ.2568 ซึ่งต้องแข่งกับเวลาที่เหลือไม่ถึง 45 วัน จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการทุกท่านรีบยื่นขอใบอนุญาตให้ทันก่อนกฎกระทรวงโรงแรมฉบับที่ 4 ปี 2566 กำลังจะหมดอายุลงตามบทเฉพาะกาล ซึ่งหากต้องการขอคำแนะนำ สมาคมบูติกภูเก็ตยินดีให้คำปรึกษา โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อมาที่ เบอร์ 097-9964888 หรือ Line @bacphuket เพื่อขอคำแนะนำได้

ขณะที่นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริบทของจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าเงื่อนไขการขอใบอนุญาตโรงแรมได้ เนื่องจากเดิมติดข้อกฎหมาย ประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเฉพาะพื่นที่จ.ภูเก็ต เพื่อผ่อนปรนข้อติดขัดเช่น พื้นที่ว่าง และขยายจำนวนห้องในการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม (IEE) เบื้องต้นจาก 29 ห้องเป็น 49 ห้อง

แต่หากมีจำนวนห้องพักเกินกว่า 9 ห้องไม่เกิน 49 ห้องจะต้องจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมฉบับย่อ (COP) ทดแทน ซึ่งปัจจุบัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ลงนามในร่างประกาศฉบับใหม่เพื่อนำเข้ารับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการโรงแรมใน จ.ภูเก็ตจะสามารถเข้าถึงเงื่อนไขการขอใบอนุญาตโรงแรม หลังประกาศฉบับนี้บังคับใช้ แต่เงื่อนไขการผ่อนปรนทางกายภาพต่างๆ ต้องรีบทำให้แล้วเสร็จก่อนกฎกระทรวงโรงแรมฉบับที่ 4 ปี 2566 จะหมดอายุลงตามบทเฉพาะกาล ในวันที่ 18 สค.2568 นี้

ด้านนายนิพนธ์ เอกวานิช สมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ 9 SMEs ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการยกระดับและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ได้มอบหมายให้ นาย พชร ตั๋นสกุล ผู้ช่วยสมาชิกวุฒิสภา นำข้อมูลจากรายงานการพิจารณาศึกษา ในเรื่องการดำเนินการเพื่อผลักดันให้จัดตั้ง “ศูนย์บริการขอใบอนุญาตโรงแรมและที่พักขนาดกลางและขนาดเล็ก แบบครบวงจร” ในลักษณะการให้บริการแบบ One-Stop Service

มาบูรณาการร่วมกับจังหวัดภูเก็ตและคณะกรรมการตรวจสอบใบอนุญาตโรงแรมจังหวัดภูเก็ต โดยใช้ผลจากเล่มการพิจารณาศึกษานี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานและใช้กำหนดเป็นมาตรการเชิงนโยบายในการส่งเสริมและ

สนับสนุนให้นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน โดยใช้จังหวัดภูเก็ต เป็นกรณีศึกษา Phuket Model นำร่องปรับใช้ในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆที่มีบริบทใกล้เคียงกันต่อไป
















