เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์อบรมจริยธรรม มัสยิดกลางจังหวัดภูเก็ต อ.ถลาง จังหวัดภูเก็ต ร.ต.ท.ดร.โกมล ดุมลักษณ์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานจัดงาน “อาซูรอ สานสัมพันธ์มัสยิดกลางภูเก็ต ครั้งที่ 1” ภายในงานได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ.สลาน สันติศาสนกุล ผกก.สภ.สาคู, นายสิทธิชัย จันทวัฒน์ นายก อบต.เทพกระษัตรี, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ และพี่น้องชาวมุสลิมจำนวนมาก เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม ตลอดจนสร้างความรัก ความสามัคคีในหมู่พี่น้องชาวมุสลิมทั้งในจังหวัดภูเก็ตและผู้ที่มาประกอบอาชีพจากจังหวัดชายแดนภาคใต้

ไฮไลท์ของงาน ได้แก่ การแข่งขันกวน ขนมอาซูรอ ขนมประจำเดือนมุฮัรรอม ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ โดยมีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 6 ทีม ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมซาบัส คว้ารางวัลชนะเลิศ รับโล่ห์รางวัล เงินสด และเกียรติบัตร รองชนะเลิศได้แก่ ทีมงานคุณภาพ และอีก 4 ทีมที่เข้าร่วมได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายให้ความรู้ทางศาสนาในหัวข้อ “ประวัติและคุณค่าของการทำอาซูรอ”, “ความรัก ความศรัทธา จะนำพามนุษย์สู่สันติภาพแห่งโลก”, “อุมมาตุนวาฮิดะห์” (ประชาชาติเดียวกัน) โดยอิหม่ามจากมัสยิดต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต

ร.ต.ท.ดร.โกมล ดุมลักษณ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ของพี่น้องมุสลิม ทั้งชาวภูเก็ตและผู้ที่มาจากต่างถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจ ความศรัทธา และความรักในศาสนาอิสลาม และที่สำคัญคือการเสริมสร้างความสามัคคีของสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในปีหน้าจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น พร้อมเงินรางวัลที่มากขึ้นในกิจกรรมกวนอาซูรอ

ความสำคัญของ “ขนมอาซูรอ” และประเพณีกวนข้าวอาซูรอ ขนมอาซูรอ หรือที่บางท้องถิ่นเรียกว่า “บูโบร์ซูรอ” เป็นขนมที่จัดทำขึ้นในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งตรงกับเดือนแรกในปฏิทินฮิจเราะห์ของศาสนาอิสลาม มีลักษณะคล้ายขนมเปียกปูน มีทั้งรสหวานและคาว เครื่องปรุงประกอบด้วย ข้าวสาร น้ำตาล กะทิ มัน กล้วย เครื่องแกง เนื้อสัตว์ และผลไม้อื่น ๆ ซึ่งล้วนสื่อถึง “ความหลากหลายที่รวมเป็นหนึ่งเดียว”

สำหรับตำนานต้นกำเนิดของขนมอาซูรอเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสมัยนบีนุฮ (โนอาห์) เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่และอาหารขาดแคลน จึงนำวัตถุดิบที่เหลือมาผสมกันให้ทุกคนได้แบ่งปันและดำรงชีวิตรอดร่วมกัน ประเพณีการกวนขนมอาซูรอในชุมชนจึงไม่ใช่เพียงแค่การทำอาหาร แต่เป็นการส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในหมู่บ้าน เป็นเวทีแห่งความรัก ความเข้าใจระหว่างศาสนิก และเป็นการปลูกฝังคุณค่าทางวัฒนธรรมให้กับเยาวชนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่งการกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน





































